เด็กสมาธิสั้นและซนผิดปกติ (Attention Deficit & Hyperactive Disorders)

เด็กสมาธิสั้นและซนผิดปกติ (Attention Deficit & Hyperactive Disorders)

จะมีอาการ ผิดปกติที่เด่นชัด 3 ด้านหลักๆ ดังนี้

  1. ความบกพร่องเรื่องสมาธิ คือ เด็กสมาธิสั้นและซนผิดปกติ จะไม่สามารถควบคุม และคงสมาธิไว้ได้นาน จึงไม่สามารถทำงานให้เสร็จเป็นชิ้นเป็นอันได้ มักจะทำอะไรครึ่งๆ กลางๆ ขี้ลืม ชอบทำของหาย เด็กจะมีอาการวอกแวกง่าย และเหม่อลอยเมื่อเด็กต้องทำงานที่ตนไม่ค่อยชอบ เช่น การบ้าน
  2. ความบกพร่องเรื่องพฤติกรรม คือ เด็กสมาธิสั้นและซนผิดปกติ จะซน ไม่อยู่นิ่ง กระสับกระส่าย ชอบเล่นมือ ขยุกขยิก บิดตัวไปมา ชอบลุกเดินบ่อยๆ หรือวิ่งไปรอบๆ ห้อง ชอบแหย่เพื่อน มักจะเปลี่ยนความสนใจค่อนข้างเร็วและบ่อย
  3. ความบกพร่องในการคิดและวางแผน คือ เด็กสมาธิสั้นและซนผิดปกติ จะชอบทำอะไรเร็วๆ ไม่คิดหน้า คิดหลัง โต้ตอบทันทีทันใด พูดโพล่ง หรือพูดแทรกผู้อื่น โดยไม่ยั้งคิด ไม่มีความอดทน หรือ รอคอยสิ่งใดเป็นเวลานานๆไม่ได้ ไม่ปฏิบัติตามกฎระเบียบ และมีแนวโน้มที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ง่าย เช่น เดินชนบ่อยๆ ทำให้มีแผลฟกช้ำดำเขียว

ปัญหาเหล่านี้ หากไม่ได้รับการแก้ไข หรือการบำบัดรักษาที่ถูกต้อง เมื่อเด็กโตขึ้นอาจมีปัญหาด้านการเรียน พฤติกรรม อารมณ์ และสังคมได้ นอกจากนี้ อาจจะส่งผลต่อการทำงานได้ อีก เช่น ไม่มีระบบในการทำงาน สูญเสียความเชื่อมั่นในตัวเอง มีปมด้อย และไม่สามารถมีปฏิสัมพันธ์กับเพื่อน หรือผู้อื่นได้ดี เช่น ชอบทำตัวแยกกลุ่มเมื่ออยู่กับเพื่อนๆ


คำแนะนำสำหรับผู้ปกครองในการช่วยเหลือและดูแลเด็กสมาธิสั้น และซนผิดปกติ

การปรับสิ่งแวดล้อม : คุณพ่อคุณแม่ควรให้มีสิ่งเร้าในบ้านน้อยที่สุด ปราศจากเสียงดังรบกวน ไม่ควรพาเด็กไปในสถานที่ที่มีคนพลุกพล่าน ไม่ควรให้เด็กดูทีวีนานเกินไป เพราะเด็กจะได้ รับการกระตุ้นมากเกินไป อาจทำให้เด็กขาดสมาธิได้

การเพิ่มสมาธิ :ตัวอย่างเช่น ขณะที่ลูกทำการบ้าน คุณพ่อคุณแม่ควรใช้เวลาสอนลูกทำ การบ้านแบบตัวต่อตัว ไม่ควรให้ลูกทำการบ้านคนเดียว และควรหัดให้เด็กนั่งทำงานอย่างต่อเนื่อง โดยไม่ลุกจากโต๊ะบ่อยๆ อาจจะเริ่มจากการให้นั่งนานสัก 5 นาที ในระยะเริ่มต้นแล้วค่อยเพิ่มระยะเวลานานขึ้นเรื่อยๆ

การเพิ่มความสามารถในการควบคุมตนเอง : คุณพ่อคุณแม่ควรจัดระเบียบวินัยในบ้านอย่าง สม่ำเสมอ และควรจัดตารางกิจวัตรประจำวัน เพื่อฝึกให้ลูกรู้ว่าเวลาไหนควรทำอะไร

เด็กสมาธิสั้นและซนผิดปกติแต่ละคนจะมีความรุนแรงของอาการแตกต่างกัน ดังนั้น รายละเอียดของวิธีการต้องปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับเด็กแต่ละราย คุณพ่อคุณแม่ควรมีความจริงจังในการปฏิบัติตามขั้นตอนการบำบัดรักษาที่ถูกต้องเหมาะสมและต่อเนื่องด้วยนะคะ


ขอบคุณข้อมูลดีๆจากเพจ: ศูนย์กระตุ้นพัฒนาการเด็ก Step Plus Center